วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

ขั้นตอนการทำบ่อปลาคาร์ฟ

ขั้นตอนการทำบ่อปลาคาร์ฟ
..............บ่อปลาคาร์ปต้องมีองค์ประกอบดังนี้
                   1.  สะดือบ่อ
                   2.  ท่อน้ำล้น
                   3.  ท่อน้ำทิ้ง
                   4.  ท่อเติมน้ำ
                   5.  มุมตั้งเครื่องพ่นอากาศ หรือ หัวเจ็ทพ่นน้ำเพิ่มฟองอากาศ
                   6. ทางน้ำกลับ
                   7.  ที่ให้อาหารปลา
                   8. ที่ยืนหรือที่นั่งชมปลา

           ในที่นี้จะสมมุติขนาดของบ่อปลา ไว้ที่  2x3 เมตร เพื่อสะดวกในการคำนวณให้เห็นชัดเจน
        1. การกำหนดรูปร่างลักษณะของบ่อ เป็นแบบสี่เหลี่ยม หรือไม่จำกัดรูปทรง  ให้วางแปลนคร่าวๆในกระดาษ ขนาด 2 x3 เมตรโดยใช้มาตราส่วน ที่กำหนดขึ้น เพื่อง่ายต่อการคำนวณหาจำนวนเสาเข็ม การตอกเข็มในขั้นต่อไป
2. ความลึกของบ่อ ต้องมีความสัมพันธ์กัน บ่อเลี้ยงปลาไม่ควรลึกหรือตื้นเกินไป บ่อกว้างยาวขนาดนี้ ขุดลึก ถึง 1 เมตรตามที่ว่ากัน ก็เหมือนหลุมหลบภัยมากกว่า มันน่ากลัวมากกว่าน่าดู  ยิ่งความลึกถึง 1.5 เมตร เลิกคุยกันไปเลย ถ้ากว้าง 15 เมตร ยาว 25 เมตรไม่ว่ากัน  ไม่ต้องกลัวว่าปลาจะอยู่ไม่ได้ เลี้ยงไว้ดูไม่ได้เลี้ยงไว้ขาย   บ่อขนาดนี้ลึก 60-70  เซนติเมตรก็โอแล้ว
                 ที่เตือนไว้ตรงนี้เพราะกลัวใจคุณ เห็นบ่อที่ขุดแล้วยังไม่มีน้ำใส่ มันจะลวงตาว่าไม่ลึก  แล้วจะสั่งให้เพิ่มความลึกไปเรื่อยๆ การทำแบบนี้ไม่เป็นผลดีเลย เพราะความลึกของบ่อที่เพิ่มขึ้นหมายความว่าต้องเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานด้วย ไม่ว่าจะป็นจำนวนเสาเข็มหรือขนาดของเหล็กเส้น จะต้องคำนวณใหม่หมด ไม่งั้นปัญหาที่ตามมา ให้เดาเอาเองแล้วกัน  เกิดแล้วมันแก้ยากนะบ่อแตกร้าวน่ะ
  3. ในแบบแปลนคุณตีตารางช่องละ 1 เมตรทำเครื่องหมายกำกับตำแหน่งหัวเข็มเอาไว้ การคำนวณหาจำนวนเสาเข็มมีวิธีการคิดดังนี้  ทุกระยะ 1 เมตรเสาเข็ม 1ต้น คือ 1ต้นต่อ 1ตารางเมตร  ใช้เสาปูนหกเหลี่ยมกลวงความยาว 2 เมตร  บ่อนี้ใช้เสาเข็มจำนวน 6 ต้น 
  4. เมื่อได้แบบแล้วก็เริ่มลงมือทำโดยเอาเชือกฟางมาขึง เหมือนในแบบ แล้วเอาปูนขาวโรยตามรูปร่างบ่อเช็คระดับขอบบ่อว่า บ่อจะอยู่เหนือพื้นดินเท่าไร และจะขุดลงไปลึกเท่าไร ในที่นี้ อยู่เหนือพื้นดิน 10 เซนติเมตร ก็ขุดลึกลงไป 50 เซนติเมตร แต่ให้ขุดเพิ่มอีก15 เซนติเมตร เพื่อวางท่อและเทพื้นบ่อ รวมการขุดต้องขุดลึก ลงไปในดิน 65 เซนติเมตร ความกว้างและความยาวต้องขุดเผื่อไว้มากกว่าขนาดจริง +10 เซนติเมตรคือต้องขุด 2.10 X 3.10 เมตร
5. ตอกเสาเข็ม ตามตำแหน่งตามแบบที่หาไว้แล้ว ให้หัวเข็มอยู่ที่ระดับ -65เซนติเมตร
6. ก่อนจะผูกเหล็กเทพื้นให้วางท่อน้ำเข้าออก ก่อน สะดือบ่อเป็นจุดต่ำสุดมีหน้าที่ดูดถ่ายของเสียจะต้องขุดดินวางท่อต่อกับ สะดือบ่อให้เสร็จเป็นสิ่งแรก ตัวแอ่งสะดือ จะทำเป็นรูปกรวยคือก้นแคบปากกว้าง เหมือนตัว V ขนาด 8”x8” ก้น 5”x5”แล้วเดินท่อ PVC ขนาด 4” ไปยังบ่อกรอง สะดือบ่อต้องใส่ตะแกรงเหล็กเพื่อกันเศษใบไม้และปลาลอดเข้าไปในท่อ สะดือบ่อ ถ้าใช้ปั๊ม 11/2 แรงใช้ท่อ PVC 2-4”  ถ้าปั๊ม 2 แรงใช้ท่อ 4” ถ้าปั๊ม 3 แรงใช้ท่อ5”
7. น้ำออก
                    7.1 น้ำออกท่อที่ 1  จากสะดือบ่อที่วางท่อไว้จะเป็นท่อไหลไปบ่อกรองห้องที่1  เวลาวางท่อpvc ต้องวางให้ได้ระดับจากพื้นบ่อเลี้ยงปลาไปยังบ่อกรอง(คงจำได้ว่าพื้นบ่อกรอง จะอยู่ต่ำกว่าพื้นบ่อเลี้ยง )
                    7.2 น้ำออกท่อที่2 คือตัวควบคุมระดับน้ำในบ่อ จะใช้ท่อpvc21/2”เป็นท่อน้ำล้นวางที่ระดับ -30เซนติเมตร ใส่ข้องอไม่ทากาว และต่อไปยังท่อระบายน้ำ
8. น้ำเข้า
                    8.1 ท่อน้ำจะวิ่งเข้าบ่อกรองห้องสุดท้าย ไหลวนกลับมาบ่อเลี้ยง
                    8.2 น้ำเข้าท่อที่2 ติดหัวเจ็ทให้น้ำกับอากาศ พุ่งออกมาเป็นฟองอากาศในบ่อ ช่วยเพิ่มอ็อกซิเจนให้กับปลาให้พอเพียง และแรงดันน้ำที่พ่นออกมาจะช่วยให้น้ำในบ่อไหลเวียน เศษอาหารและขี้ปลาจะวนไปรวมกันที่สะดือบ่อ และถูกดูดไปยังบ่อกรองต่อไป ให้วางท่อน้ำเข้าต่ำกว่าท่อน้ำล้น 10 เซนติเมตร ..................ใส่น้ำแช่บ่อทิ้งไว้สัก 2อาทิตย์ ค่อยถ่ายน้ำออก เปลี่ยนน้ำใหม่ใส่ตัวกรองในขั้นตอนนี้  เพราะถ้าใส่วัสดุกรองตอนเสร็จใหม่แล้วแช่บ่อทิ้งไว้ ตะกอนปูนจะเข้าไปจับในตัวกรองโดยเฉพาะแผ่นใยขัดจะถูกปูนจับตัวเต็มไปหมด ถ้าบ่ออยู่กลางแจ้งโดนแสงแดดตลอดบ่อจะมีสีเขียวบ้างเนื่องจากการสังเคราะห์ แสงของสิ่งมีชีวิตที่เจือปนอยู่ในน้ำ แต่น้ำจะไม่เน่าเสียเพราะมีการกรองที่ดีและไม่มีกลิ่น ต่อไปถ้าพื้นที่บ่อได้ร่มเงามากขึ้น น้ำจะค่อยๆใสแจ๋วเป็นตาตั๊กแตน ระยะเวลาในการกรองอย่ามองข้าม ระบบจะทำงานเมื่อคุณเดินเครื่องระบบ  ควรติดตั้งเครื่องตั้งเวลาทำงานของปั๊มให้ปิดเปิดตามเวลาที่คุณต้องการ หากปล่อยให้หยุดนิ่งนานๆเปิดที ทุกอย่างจะถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่า
                    สุดท้ายการคำนวณจำนวนปลาที่จะนำมาเลี้ยงในบ่อ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับบ่อน้ำด้วย และต้องคำนวณว่าขนาดของบ่อสามารถรองรับและเลี้ยงปลาได้กี่ตัว การเลี้ยงปลาน้อยเกินไปยังดีกว่าการเลี้ยงปลามากเกินไป ปลาจะได้อยู่ได้อย่างสบายใจ ไม่แออัดยัดเยียดเป็นปลากระป๋อง หลักการคำนวณแบบคร่าวๆก็คือ ปลาที่มีขนาดลำตัวยาว 5เซนติเมตร ต่อพื้นที่ทุกๆ 1 ตารางเมตรของผิวน้ำ สำหรับบ่อที่เราสร้างเสร็จบ่อนี้เลี้ยงปลาได้ 6 ตัว
 สำหรับที่ยืน ที่นั่งให้อาหารปลาชมปลา ก็แล้วแต่อัชฌาศัย จะเป็นพื้นไม้ ระเบียงไม้ ศาลา ก็ว่ากันไป

ไม่มีความคิดเห็น: